หัวข้อ

วอลจองกโย Woljeonggyo Bridge (월정교) สะพานไม้เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรชิลลา ถือเป็นสะพานไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีอีกด้วย

วอลจองกโย

มารู้จักกับอีกหนึ่งสะพานที่ได้ชื่อว่าสวยงามมาก ๆ แห่งหนึ่งของประเทศเกาหลีเลยก็ว่าได้ นอกจากความสวยงามแล้ว ที่นี่ยังได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในเกาหลีอีกด้วย ที่นี่คือ สะพานวอลจอง หรือ วอลจอง กโย

วอลจอง-กโย (월정교) เป็นสะพานที่ตั้งอยู่ในเขตกโยดง เมืองคยองจู จังหวัดคยองซังบุกโด โดยตามบันทึกในประวัติศาสตร์ “ซัมกุกยูซา” ซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเกาหลี ได้ระบุไว้ว่า วอลจอง-กโยนั้นสร้างขึ้นในช่วงปีที่ 19 ของรัชสมัยพระเจ้ากยองด็อก กษัตริย์ลำดับที่ 35 แห่งอาณาจักรชิลลา (ประมาณปี ค.ศ.760) โดยสันนิษฐานกันว่าเหตุผลที่สะพานวอลจองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นนั้นก็เพื่อที่จะเป็นเส้นทางการคมนาคมหลักเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางของพระราชวัง ลักษณะคล้ายกับถนนยุกโจในสมัยราชวงศ์โชซอน

วอลจองกโย

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สะพานแห่งนี้ได้มีการซ่อมแซมในรัชสมัยของพระเจ้าชุงนยอล กษัตริย์ลำดับที่ 25 แห่งราชวงศ์โครยอ (ค.ศ.1280) หมายความว่า สะพานแห่งนี้มีอายุผ่านมาได้อย่างน้อย 520 ปี ซึ่งผ่านช่วงการถูกรุกรานจากจักรวรรดิมองโกลมาได้

แต่อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานกันว่าหลังจากนั้นสะพานแห่งนี้ถูกไฟไหม้เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบหรือจากสงคราม เนื่องจากในเวลาต่อมา ช่วงปี ค.ศ.1975 ช่วงที่มีการสำรวจมรดกทางวัฒนธรรม ได้พบว่าสะพานแห่งนี้เหลือเพียงแค่โครงสร้างหินที่รองรับสะพานเท่านั้น ในส่วนที่เป็นไม้ต่าง ๆ ได้หายไป

วอลจองกโย

ต่อมาในปี ค.ศ.1985 ได้มีการขุดพบกระเบื้องที่ถูกเผารวมถึงเศษไม้จำนวนมากจากบริเวณก้นแม่น้ำ ใต้สะพานวอลจองแห่งนี้ และในปี ค.ศ.2004 สะพานวอลจองได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หมายเลข 457 ร่วมกับสะพานอิลจองกโย ทำให้หลังจากนั้น ทางเมืองคยองจึงได้มีแผนการฟื้นฟูสะพานนี้อย่างเต็มรูปแบบ

ค.ศ.2005 เมืองคยองจูและหน่วยงานทางด้านมรดกและวัฒนธรรม ได้มีการจัดทำแผนการฟื้นฟูสะพานวอลจองอย่างเป็นทางการ จนมาถึงปี ค.ศ.2007 ก็ได้เริ่มต้นทำการฟื้นฟูอย่างจริงจัง

วอลจองกโย

ในช่วงแรกของการฟื้นฟูสะพานวอลจองแห่งนี้ เกิดข้อถกเถียงกันมากพอสมควร เนื่องจากว่าสิ่งที่หลงเหลืออยู่นั้นมีแค่โครงสร้างหินที่รองรับสะพานเท่านั้น ทำให้รูปร่างที่แท้จริงของสะพานรวมถึงศาลานั้นเกิดขึ้นจากข้อสันนิษฐานและจินตนาการเป็นส่วนใหญ่

การค้นพบเศษไม้และกระเบื้องที่ไหม้เกรียม ทำให้มั่นใจได้ว่าสะพานวอลจองแห่งนี้ในอดีตเป็นสะพานที่มีหลังคาปกคลุมตัวสะพาน แต่รายละเอียดอื่น ๆ นั้นไม่อาจทราบได้ ทำให้การก่อสร้างนั้นอ้างอิงจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสมัยอาณาจักรชิลลา ผสมผสานกับโบราณวัตถุที่ขาดหายไปที่ขุดพบในบริเวณใกล้เคียง

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้นระบุว่ามีประตูอยู่บริเวณศาลาของสะพาน รวมถึงมีการใช้กระเบื้องทำหลังคา ในตอนร่างการออกแบบของสะพานนั้นจึงมีการเสนอแบบของสะพานเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบสะพานศาลาชั้นเดียว และแบบสะพานศาลาสองชั้น โดยศาลาจะปิดการเข้าออกของสะพาน

ในที่สุดแผนการสร้างแบบสะพานศาลาสองชั้นก็ได้ถูกคัดเลือก ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น สะพานวอลจองนั้นเป็นสะพานที่ในเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อกับพระราชวังในอดีต ทำให้อาจมีวัตถุประสงค์ในด้านของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงคิดว่าการสร้างศาลาสองชั้นนั้นจะทำให้มีความปลอดภัยของพระราชวังที่มากกว่า

วอลจองกโย

ด้วยเหตุผลทางข้อถกเถียงที่มากมาย ทำให้การฟื้นฟูสะพานวอลจองแห่งนี้ใช้เวลากว่า 4 ปี จึงทำการฟื้นฟูแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2011 โดยเป็นการฟื้นฟูตัวสะพานเองรวมไปถึงบริเวณศาลาของสะพาน และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2013

ถัดจากนั้นต่อมา ในปี ค.ศ.2016 เดือนเมษายน ได้มีการก่อสร้างหอคอยประตูทั้งสองข้างของสะพานขึ้น และแล้วเสร็จในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.2017 รวมถึงพื้นที่บริเวณโดยรอบก็ได้รับการฟื้นฟูแล้วเสร็จในเดือนถัดมา โดยมีการติดป้ายชื่อ “คิมแซ็ง” ที่ประตูทางทิศใต้ และติดป้ายชื่อ “ชเวชีวอน” ที่ประตูทางทิศเหนือ

ในที่สุดสะพานแห่งนี้ก็สร้างเสร็จอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.2018 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตลอดเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

https://www.facebook.com/KaoleeEveryday