เชื่อว่าหลายๆคนที่เคยไปเที่ยวเกาะเชจู น่าจะต้องเคยเห็นเหล่าคุณป้าสวมชุดประดาน้ำสีดำ ลงไปดำน้ำหาอาหารทะเลมาประกอบอาหารกันบ้างใช่มั้ยล่ะครับ นี่เป็นหนึ่งในอาชีพที่ถือได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ที่องค์การยูเนสโกได้กำหนดให้เลยทีเดียว ในวันนี้ผมจะพาทุกๆคนไปรู้จักกับ Haenyeo “แฮ- นยอ” อาชีพนักประดาน้ำของเกาะเชจูกันครับ
Haenyeo “해녀” (แฮ-นยอ) เป็นนักดำน้ำหญิงของเกาะเชจู ที่ยึดอาชีพการดำน้ำเพื่อลงไปเก็บเกี่ยววัตถุดิบทางทะเลต่างๆ เช่นหอย สาหร่าย รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆจากมหาสมุทร โดยเชื่อกันว่าประเพณีการดำน้ำของเกาะเชจูเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.434 ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นอาชีพของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 นักดำน้ำที่เป็นผู้หญิงเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 17 ผู้ชายจำนวนมากเสียชีวิตลงในทะเลอันเนื่องมาจากภาวะสงคราม รวมถึงการออกหาปลาในทะเลลึก ทำให้อาชีพการดำน้ำจึงตกเป็นของผู้หญิงแทน
ต่อมาแฮนยอมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีใต้ เมื่อปี ค.ศ.1910 โดยก่อนหน้านี้การดำน้ำหาอาหารของแฮนยอ ส่วนหนึ่งจะต้องนำไปมอบให้กับรัฐบาลในสมัยราชวงศ์โชซอนเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการ แต่พอญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลี จึงได้มีการยกเลิกประเพณีดังกล่าว ทำให้แฮนยอสามารถขายอาหารทะเลที่หามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ประกอบกับมีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นและเกาหลีได้จ้างแฮนยอเพื่อไปทำงานที่ญี่ปุ่น รวมถึงบนแผ่นดินใหญ่เกาหลีในฐานะผู้ใช้แรงงาน ทำให้สถานะทางการเงินของเหล่าแฮนยอนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปี ค.ศ.1960 รายได้จากการดำน้ำของแฮนยอคิดเป็น 60% ของรายได้จากการประมงในเกาะเชจู เลยทีเดียว
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลเกาหลีได้พยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกๆจังหวัดให้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยเกาะเชจูนั้นรัฐบาลตั้งใจจะทำให้กลายเป็นผู้ส่งออกของส้มแมนดารินรายใหญ่ แรงงานส่วนใหญ่ในชนบทได้เข้าร่วมกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่ดินบนเกาะเชจูกว่า 2% ถูกพัฒนาให้กลายเป็นไร่ส้มแมนดาริน และในปี ค.ศ.1970 รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการต่างๆเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะเชจู ทำให้ในปี ค.ศ.1978 การท่องเที่ยวได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะเชจูแซงหน้าเกษตรกรรมไป
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้แฮนยอบนเกาะเชจูมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยตัวเลขในช่วง 5 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1965 – 1970 จำนวนแฮนยอลดลงจาก 23,081 คน เหลือเพียง 14,143 คน นอกจากนี้โอกาสในด้านการศึกษารวมถึงตำแหน่งงานในด้านอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ส่งผลต่อเด็กสาวรุ่นหลังที่ละทิ้งอาชีพแฮนยอ โดยในปี ค.ศ.1970 มีแฮนยออายุไม่เกิน 30 ปี อยู่ที่ 31% อายุระหว่าง 30-49 ปี อยู่ที่ 55 % และอายุ 50 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 14% แต่หลังจากนั้นผลการสำรวจในปี ค.ศ.2014 กว่า 98% เป็นแฮนยอที่มีอายุเกินกว่า 50 ปี
สำหรับแฮนยอนั้นเด็กสาวบนเกาะเชจูจะเริ่มฝึกฝนตัวเองตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยการเริ่มจากฝึกดำน้ำตื่น แล้วก็ไล่ระดับความลึกลงไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาฝึกฝนอยู่ประมาณ 7 ปี จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี จึงจะถือว่าแฮนยอเต็มรูปแบบ โดยแฮนยอในปัจจุบันนี้บางคนมีอายุมากกว่า 80 ปี เลยทีเดียว
ในสมัยก่อนแฮนยอจะสวมใส่เพียงชุดว่ายน้ำที่ทำจากผ้าฝ้าย แต่หลังจากที่มีการผลิตชุดดำน้ำออกมา การแต่งกายต่างๆของแฮนยอก็เปลี่ยนไป นอกจากชุดดำน้ำแล้วก็ยังมีหน้ากากดำน้ำ ครีบดำน้ำ อุปกรณ์จำกัดวัชพืช เวลาในการดำน้ำของแฮนยอจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ฤดูกาล โดยในสมัยก่อนที่จะมีชุดดำน้ำ ในฤดูหนาวจะดำน้ำครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และกลับขึ้นมาผิงไฟนานกว่า 3-4 ชั่วโมงเพื่อปรับร่างกายให้พร้อมสำหรับการกลับไปดำน้ำครั้งต่อไป แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนก็จะสามารถดำน้ำได้ครั้งละ 3 ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันนี้แม้ในฤดูหนาว แฮนยอสามารถดำน้ำในนานกว่า 5-6 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง
ในการดำน้ำแต่ละครั้งของแฮนยอจะสามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 30 เมตร และสามารถกลั้นหายใจได้นานกว่า 3 นาที โดยการเก็บเกี่ยววัตถุดิบของแฮนยอจะเป็นพวกหอยเป๋าฮื้อรวมถึงหอยชนิดต่างๆ ปลาหมึก เม่นทะเล สาหร่ายสีน้ำตาล หอยนางรม ทากทะเล เป็นต้น
โดยองค์การยูเนสโกได้กำหนดให้วัฒนธรรมแฮนยอบนเกาะเชจู เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ..
Everyday KOREA